วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พัฒนาการชาติไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

พัฒนาการชาติไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

    ๑ ) ด้านการปกครอง   ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ( พ . ศ .  ๒๓๒๕  ๒๓๙๔ )  ระบบการปกครองยังคงเหมือนกับสมัยอยุธยาตอนปลาย   ยกเว้นแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ( พ . ศ .  ๒๓๒๕ ๒๓๕๒ )  ที่ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมุหพระกลาโหมมีอำนาจปกครองดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้   จนกระทั่งในยุคปรับตัวเข้าสู่ความทันสมัยตามแบบตะวันตกซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ( พ . ศ .  ๒๔๑๑ - ๒๔๕๓ )   จึงได้มีการปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่   ด้วยการจัดตั้งกระทรวง   ทบวง   กรมตามแบบตะวันตก   และมีเสนาบดีเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารสูงสุดในกระทรวงภายใต้การกำกับของพระมหากษัตริย์ขึ้นในส่วนกลาง   ส่วนในภูมิภาคทรงปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล   รวมทั้งการปกครองท้องที่ในระดับหมู่บ้าน   ตำบล   อำเภอ   สำหรับการปกครองส่วนท้องถิ่น   ก็มีการทดลองจัดตั้งสุขาภิบาล   เพื่อให้ราษฎรฝึกฝนการปกครองตนเอง   ซึ่งในสมัยรัชกาลที่  ๖   และรัชกาลที่  ๗  ก็ได้ทรงพยายามที่จะวางรากฐานให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมทางด้านการเมืองการปกครองมากขึ้น   ตราบจนกระทั่งได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์   เมื่อ  พ . ศ .  ๒๔๗๕  จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย   ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ   หลังจากนั้นประเทศไทยก็มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองประเทศมาเป็นจำนวน  ๑๖  ฉบับ   ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ขึ้นอีกก็ได้

    ๒ ) ด้านเศรษฐกิจ   ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น   ระบบเศรษฐกิจของไทยยังเป็นแบบผูกขาดการค้าโดยพระคลังสินค้า   การค้ากับจีนเจริญรุ่งเรืองมาก   นอกจากนี้   ก็มีการค้ากับชาติตะวันตกโดยเฉพาะกับอังกฤษ   ได้มีการตกลงทำสนธิสัญญาเบอร์นีระหว่างไทยกับอังกฤษ   ใน  พ . ศ .  ๒๓๖๙   สมัยรัชกาลที่  ๓   และทำสนธิสัญญาเบาวริง   ใน  พ . ศ .  ๒๓๙๘   สมัยรัชกาลที่  ๔   ซึ่งในเวลาต่อมาไทยก็ต้องยอมตกลงทำสนธิสัญญาซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันสนธิสัญญาเบาวริงกับชาติตะวันตกอื่น ๆ ด้วย   เช่น   ฝรั่งเศส   สหรัฐ ฯ   โปรตุเกส   ฮอลันดา   เป็นต้น   ซึ่งถึงแม้จะเป็นสัญญาที่ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบ   แต่ก็ช่วยทำให้การค้าขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง   สร้างความเจริญให้กับบ้านเมืองเป็นอันมาก   ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น   ยังมีการเก็บภาษีภายใต้ระบบการประมูลจัดเก็บภาษีอากรโดยพวกเจ้าภาษีนายอากรอยู่   แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่  ๕  ได้ทำการปฏิรูปเศรษฐกิจและการคลังตามแบบตะวันตก   ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน  พ . ศ . ๒๔๗๕  แล้ว   เศรษฐกิจของไทยก็ยังคงมีลักษณะเป็นแบบทุนนิยมอยู่   จนกระทั่งในสมัยจอมพล  ป .  พิบูลสงคราม  เป็นนายกรัฐมนตรี   รัฐบาลได้มีนโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจ   โดยสนับสนุนให้คนไทยทำการลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการต่าง ๆ ที่สำคัญแทนคนต่างชาติ   ต่อมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์   ธนะรัชต์  เป็นนายกรัฐมนตรี   จึงมีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่  ๑  ( พ . ศ .  ๒๕๐๔ -๒๕๐๙ )   จนปัจจุบันนี้กำลังอยู่ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่  ๘  ( พ . ศ .  ๒๕๔๐ -๒๕๔๔ )   ผลของการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอย่างมีระบบดังกล่าว   ทำให้เศรษฐกิจของไทยรุดหน้าเป็นลำดับ

   ๓ ) ด้านสังคม   ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น   สังคมไทยก็ยังคงมีลักษณะโครงสร้างทางสังคมเหมือนสมัยอยุธยา   กล่าวคือ   มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและมีพระราชอำนาจสูงสุด   นอกจากนี้   ก็มีพระบรมวงศานุวงศ์   ขุนนาง   ข้าราชการ   ไพร่   ทาส   และพระสงฆ์   สิทธิ   อำนาจ   หน้าที่   และความรับผิดชอบของบุคคลในฐานันดรต่าง ๆ ย่อมเป็นไปตามแบบแผนและจารีตของระบบศักดินา   ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ( พ . ศ . ๒๔๑๑ - ๒๔๕๓ )   พระองค์โปรดให้มีการเลิกระบบไพร่   และทรงตราพระราชบัญญัติเลิกทาส   ทำให้ไพร่และทาสมีอิสระในแรงงานและชีวิตของตนเอง   พร้อมกันนั้นพระองค์ก็ทรงริเริ่มปฏิรูปการศึกษา   ทำให้ผู้คนในสังคมเริ่มต้นรับเอาวิทยาการและแนวคิดจากโลกตะวันตกมาใช้อย่างกว้างขวาง   ปัจจุบันสังคมไทยมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น   เทคโนโลยีมีบทบาทอย่างมากในการดำเนินชีวิตประจำวัน   ลักษณะการดำเนินชีวิตของผู้คนกำลังค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงจากชุมชนชนบทเป็นชุมชนเมืองมากขึ้น

   ๔ ) ด้านศิลปวัฒนธรรม   ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นศิลปวัฒนธรรมยังคงถ่ายทอดแบบอย่างของศิลปวัฒนธรรมในสมัยอยุธยาทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม   ประติมากรรม   และจิตรกรรม   ต่อมาเมื่อมีการปรับตัวเข้าสู่ความทันสมัยตามแบบตะวันตก   ศิลปวัฒนธรรมแบบตะวันตกก็เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทย   ทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม   ประติมากรรม   จิตรกรรม   นาฏกรรม   ฯลฯ   รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย   โดยมีลักษณะของขนบธรรมเนียมประเพณีแบบตะวันตกผสมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก   ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง   พ . ศ .  ๒๔๗๕   แล้วเกือบ  ๑๐  ปี   จอมพล  ป .  พิบูลสงคราม   ในฐานะนายกรัฐมนตรีขณะนั้น  ( พ . ศ .  ๒๔๘๑  - ๒๔๗๘ )  ได้มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมหลายอย่าง   เช่น   ให้ทุกคนสวมหมวก   ยกเลิกการกินหมาก   ฯลฯ   แต่ไม่สู้จะได้ผล   ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่  ๒  มีการส่งคนไปศึกษา   และดูงานในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก   ก็ทำให้อิทธิพลวัฒนธรรมอเมริกันแพร่หลายเข้ามาสู่สังคมไทย   ซึ่งมีผลทำให้ศิลปวัฒนธรรมของไทยมีอิทธิพลของศิลปวัฒนธรรมตะวันตกแทรกผสมอยู่มากมาย   จนกระทั่งได้มีการตื่นตัวในการรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยกันอีกครั้งหนึ่งภายหลังสงครามเวียดนาม   โดยมีการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย   เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว   ทำให้ศิลปวัฒนธรรมของไทยเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น